
หมากรุกไทย เกมสุดคลาสสิกเป็นเกมกระดานที่พัฒนามาจากหมากรุกของอินเดียที่ชื่อเกมว่าจตุรงค์
หมากรุกไทย เกมสุดคลาสสิก เป็นเกมกระดานที่พัฒนามาจากหมากรุกของอินเดียที่ชื่อเกมว่าจตุรงค์ ลักษณะการเล่นเกมใกล้เคียงกับหมากรุกสากล นอกจากนี้ในประเทศกัมพูชามีเกมหมากรุก ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหมากรุกไทยนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย มีประวัติเริ่มในอินเดีย โดยมาจากตำนานของรามเกียรติ์
ตามตำนานกล่าวว่า ฝ่ายทศกัณฐ์นั้น เมื่อมีศึกเข้าประชิด นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ เห็นทศกัณฐ์เครียดกับการศึกจึงคิดหาเกมให้สวามีได้ผ่อนคลาย โดยคิดเป็นเกมหมากรุกขึ้น โดยแต่เดิมใช้คนเล่น 4 คน เรียกว่า จตุรังกา แต่ในภายหลังได้รับการปรับปรุงจนสามารถใช้ผู้เล่นเพียง 2 คนได้ ไม่มีเกมกีฬาในร่มชนิดใดที่ผู้คนชื่นชอบหลงใหลและเล่นกันทั่วทุกมุมโลกเท่าหมากรุก จนมีคำพูดข้อคิดติดปากในหลายชาติหลายภาษา เช่น ชาวรัสเซียพูดถึงกีฬาชนิดนี้ว่า
“หมากรุกเป็นเสมือนมหาสมุทร ที่มวลเหล่าแมลงใช้ดื่มกินและช้างลงอาบเล่น” ชาวเยอรมันพูดกันติดปากว่า “ไม่มีคนโง่คนไหนจะเล่นหมากรุกเป็น แต่คนที่เล่นเป็นก็ใช่ว่าจะฉลาดไม่” และภาษิตเก่าของชาวอังกฤษที่ยังคงรู้จักกันดีคือ “คุณอาจน็อค (เอาชนะ) คู่ต่อสู้ด้วยการตีหรือทุ่มด้วยกระดานหมากรุก แต่นั่นไม่ได้พิสูจน์ว่าคุณเป็นคนเล่นหมากรุกเก่ง”
ตัวหมากรุก
- ขุน เป็นตัวหมากรุกที่สำคัญที่สุด มีการเดินและกินไปในทิศทางรอบตัวได้ แต่ไม่สามารถเดินเข้าไปในตากินของฝ่ายตรงข้ามได้
- เม็ด มีการเดินและกินไปในแนวทแยงทั้ง 4 ด้าน
- โคน มีการเดินและกินไปในแนวทแยงทั้ง 4 ด้านและเดินไปทางข้างหน้า
- ม้า เดินเหมือนม้าของหมากรุกสากล เดินและกินในแนวทแยงไขว้แบบ 2×3 (ลักษณะตัว L) 8 ทิศทาง สามารถข้ามหมากตัวอื่นได้
- เรือ มีการเดินและกินไปในแนวตั้ง-แนวนอน ระยะยาว ไม่สามารถข้ามหมากตัวอื่นได้เหมือนเรือของหมากรุกชาติอื่น
- เบี้ย มีการเดินไปทางข้างหน้าและกินในแนวทแยงด้านหน้า เมื่อเบี้ยไปถึงแนววางเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นเบี้ยหงาย และมีการเดินและกินเช่นเดียวกับเม็ดทุกประการ